ประวัติสถานีวิทยุ


       มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลากำหนดปรัชญาไว้ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้มีบทบาทต่อชุมชนอย่างมากมายทั้งในด้านวิชาการและศิลปวัฒนธรรม ควรแก่การเผยแพร่เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องมือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานต่างๆไปสู่ชุมชนได้อย่างทั่วถึง “สถานีวิทยุชุมชน” จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง รวมทั้งสามารถให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการ ดำเนินการได้                                                                                                                         นอกจากนี้ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้เปิดการเรียนการสอนด้านการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง ทำให้จำเป็นต้องไปฝึกประการณ์วิชาชีพเพิ่มเติมจากสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ พบว่าที่ผ่านมามักมีข้อจำกัดและเงื่อนไขบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผลประโยชน์ทางธุรกิจ ทำให้นักศึกษา ไม่สามารถฝึกประสบการณ์วิชาชีพได้อย่างเต็มที่้
          เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงตามสาระสำคัญใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และเพื่อแก้ไขปัญหาข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา ประกอบกับเพื่อเป็นการเสริมสร้างโอกาสให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขา มีช่องทางในการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งผลงานต่างๆสู่ชุมชนเช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้แห่งอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชและมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่มีการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนเรียบร้อยแล้ว
    มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จึงได้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาขึ้นมาช่วงระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่สามารถดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดเนื่องจากมีอุปสรรคบางประการจึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงการดำเนินงานสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาและการประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาต่อไป 


วัตถุประสงค์ในการดำเนินการ
1. เพื่อจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
2. เพื่อจัดบรรยากาศการเรียนการสอนในการฝึกปฏิบัติจริง เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
3. เพื่อใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่ผลงานและกิจการของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นสื่อกลางระหว่างมหาวิทยาลัย กับชุมชน
4. เพื่อให้บริการความรู้แก่ชุมชนและสามารถให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการได้


นโยบายในการดำเนินการ
1. จัดสัดส่วนรายการภาคสาระความรู้ ข่าว บันเทิง ในอัตราส่วน 40 : 30 : 30
2. จัดช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อเผยแพร่รายการบริการทางวิชาการของหน่วยงานต่างๆทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย
3. จัดช่วงเวลาสำหรับประชาสัมพันธ์ภารกิจและกิจกรรมของมหาวิทยาลัยให้เพียงพอ
4. จัดช่วงเวลาให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้ามาใช้สถานที่ในการฝึกปฏิบัติจริง
5. จัดช่วงเวลาให้หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการผลิตรายการ
6. กระตุ้นและสนับสนุน ส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย ผลิตผลงาน บทความ สารคดี ความรู้ทางวิชาการออกเผยแพร่แก่ชุมชน
7. ผลิตและเผยแพร่รายการ โดยคำนึงคุณภาพและเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
8. มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการบริหารงานสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาเอง